ระเบียบโรงเรียนถนอมพิศวิทยาว่าด้วยการวัดและการประเมินผล
ตามหลักสูตรแกนกลางสถานศึกษา พุทธศักราช 2553
ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ 293/2551 เรื่องให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยกำหนดให้โรงเรียนในระบบที่มิได้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการใช้หลักสูตรเริ่มใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เริ่มใช้หลักสูตรเป็นแกนในการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการวัดและการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โรงเรียนจึงวางระเบียบไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบโรงเรียนถนอมพิศวิทยา ว่าด้วยการประเมินผลการเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางสถานศึกษา พุทธศักราช 2553”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับผู้เรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ตามหลักสูตรสถานศึกษา พุทธศักราช 2553 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการประเมินผลการเรียน “ระเบียบโรงเรียนถนอมพิศวิทยา ว่าด้วยการประเมินผลการเรียน ช่วงชั้นที่ 1 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และช่วงชั้นที่ 2 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544”
บรรดาระเบียบ กฎ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้ ซึ่งขัดแย้งกับระเบียบนี้ ให้ยกเลิกและใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ให้ใช้ระเบียบนี้ควบคู่กับหลักสูตรแกนกลางสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2553
ข้อ ๕ ให้ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนถนอมพิศวิทยา รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวดที่ 1
หลักในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
ข้อ ๖ การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ ให้เป็นไปตามหลักการต่อไปนี้
๖.๑ สถานศึกษามีหน้าที่ในการประเมินผลการเรียนของผู้เรียน โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม
๖.๒ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ประกอบด้วย
๖.๒.๑ การประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
๖.๒.๒ การประเมินความสามารถในการอ่าน การคิดวิเคราะห์และการเขียน
๖.๒.๓ การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๖.๒.๔ การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๖.๒.๕ การทดสอบ School Test
๖.๒.๖ การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา
๖.๒.๗ การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ
๖.๓ ให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ทั้งเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ และเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้
๖.๔ ให้ผู้ทำการประเมินผล ต้องเก็บหลักฐานการวัดผลและประเมินผล อย่างน้อย 1 ปีการศึกษา
๖.๕ ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนทั้งที่เกิดจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และผลการศึกษาจากต่างสถานศึกษา
หมวดที่ ๒
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
ข้อ ๗ สถานศึกษาต้องดำเนินการวัดและประเมินผลให้ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ ด้าน คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ การอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
การประเมินผลการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ
ข้อ ๘ การประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียน ให้ถือปฏิบัติดังนี้
๘.๑ ให้ผู้สอนแจ้งแก่ผู้เรียนทราบตัวชี้วัดมาตรฐานรายปี วิธีการวัดและประเมินผล ก่อนทำการสอนทุกครั้ง
๘.๒ การวัดผลต้องครอบคลุมพฤติกรรมด้านความรู้ ความเข้าใจ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๘.๓ ก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผู้สอนต้องประเมินผู้เรียนก่อนการเรียน เพื่อตรวจสอบความรู้พื้นฐาน และทักษะเบื้องต้นของผู้เรียน โดยใช้เทคนิควิธีการ เครื่องมือที่เหมาะสมกับการประเมินความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และทักษะกระบวนการ
๘.๔ ระหว่างภาคเรียน ให้ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ ตามสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ เพื่อพัฒนาการเรียนของผู้เรียน และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลปลายปี
๘.๕ เมื่อถึงปลายปี หลังจากจบกระบวนการเรียนการสอนทุกกิจกรรมให้มีการประเมินผลการเรียนปลายปี โดยสามารถประเมินทุกสาระการเรียนรู้ ทุกมาตรฐานการเรียนรู้ หรือเลือกประเมินเฉพาะสาระการเรียนรู้และมาตรฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ และจำเป็นต่อการศึกษาของผู้เรียนในระดับชั้นถัดไป ทั้งนี้การประเมินจะต้องครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ เวลาเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญเพื่อตรวจสอบความสามารถตามที่มาตรฐานกำหนด แล้วใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาตัดสินเพื่อผ่านการเลื่อนชั้น ในการประเมินผลปลายปีให้มีการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนตามที่สถานศึกษากำหนด
ข้อ ๙ ในการประเมินให้เลือกใช้เครื่องมืออย่างหลากหลาย และเหมาะสมกับตัวชี้มาตรฐาน พฤติกรรมตามตัวชี้มาตรฐาน ตามสาระการเรียนรู้ และมาตรฐานการเรียนรู้ ผลการประเมินให้อยู่ในรูปของคะแนน หรือระดับพัฒนาการ หรือเกรด หรือคำอธิบายเชิงคุณภาพก็ได้
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ใช้เครื่องมือการประเมินหลาย ๆ ประเภทจำเป็นต้องปรับผลการประเมินที่อาจอยู่ในรูปแบบที่หลากหลายให้เป็นรูปแบบเดียวกันก่อน (ตามน้ำหนักความสำคัญ)
ข้อ ๑๑ ให้ใช้ผลการประเมินในข้อ ๘.๔ และ ข้อ ๘.๕ ในการตัดสินผลการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
ข้อ ๑๒ ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามข้อ ๘.๕ ให้แจ้งระดับผลการเรียนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนเป็นระดับคุณภาพพร้อมคำบรรยาย ซึ่งเป็นรายละเอียดของระดับคุณภาพดังนี้
๔ หมายถึง ผลการเรียนดีเยี่ยม ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป
๓.๕ หมายถึง ผลการเรียนดีมาก ได้คะแนนร้อยละ ๗๕ - ๗๙
๓ หมายถึง ผลการเรียนดี ได้คะแนนร้อยละ ๗๐ - ๗๔
๒.๕ หมายถึงผลการเรียนค่อนข้างดี ได้คะแนนร้อยละ ๖๕ - ๖๙
๒ หมายถึงผลการเรียนน่าพอใจ ได้คะแนนร้อยละ ๖๐ - ๖๔
๑.๕ หมายถึง ผลการเรียนพอใช้ ได้คะแนนร้อยละ ๕๕ - ๕๙
๑ หมายถึง ผลการเรียนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ได้คะแนนร้อยละ ๕๐ - ๕๔
๐ หมายถึง ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ได้คะแนนร้อยละ ๐ - ๔๙
ในกรณีที่ผู้เรียนได้ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ให้ครูผู้สอนดำเนินการสอนซ่อมเสริม ปรับปรุงแก้ไข ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ จนผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ กระบวนการ สามารถผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดภายในปีการศึกษาที่ผู้เรียนได้รับผลการประเมินไม่ผ่าน ผลการประเมินที่ได้ให้ได้ไม่เกิน ๑
ในกรณีที่ผู้เรียนไม่เข้ารับการซ่อมเสริมในระยะเวลาที่กำหนด ให้ครูผู้สอนบันทึกเสนอถึงหัวหน้าฝ่ายวิชาการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป
ข้อ ๑๓ ผู้เรียนต้องเข้ารับการประเมินปลายปี ทุกคน แต่ถ้าผู้เรียนไม่ได้เข้ารับการประเมินปลายปี เพราะเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย ให้โรงเรียนจัดให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินผลได้ในภายหลัง แต่ต้องไม่เกิน ๗ วันนับจากวันสอบวันสุดท้ายของการสอบปลายภาค หากผู้เรียนไม่สามารถมาได้ตามกำหนดเวลา ให้ครูประจำชั้นทำบันทึกเสนอผู้บริหารตามลำดับ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป
การวัดและการประเมินผลการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
เป็นการประเมินศักยภาพของผู้เรียนในการอ่านหนังสือ ตำราเรียน เอกสารและสื่อต่าง ๆ เพื่อค้นหาและหรือเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ สุนทรีย์และประยุกต์ใช้ แล้วนำมาคิดสรุปเป็นความรู้ความเข้าใจของตน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์เนื้อหาสาระของเรื่องที่อ่าน ซึ่งนำไปสู่การสังเคราะห์ สร้างสรรค์ และแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ และความสามารถในการถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นด้วยการเขียนที่มีสำนวนภาษาถูกต้อง มีเหตุผล และลำดับขั้นตอนในการนำเสนอ ที่สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจนตามระดับความสามารถในแต่ละระดับชั้น
ข้อ ๑๔ การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ มีขั้นตอนดังนี้
๑๔.๑ ให้คณะกรรมการการพัฒนาและประเมินความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน กำหนดเกณฑ์และแนวทางการประเมิน ดังนี้
๑๔.๑.๑ กำหนดมาตรฐานการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนพร้อมทั้งตัวชี้วัดความสามารถ
๑๔.๑.๒ กำหนดแนวทางการประเมินที่เหมาะสม เช่น
ก. ความสามารถจริงของผู้เรียนในการปฏิบัติกิจกรรมทางการเรียนในรายวิชาต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนโดยการสังเกตของผู้สอน
ข. การมอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้า แล้วเขียนเป็นรายงาน
ค. ผลงานเชิงประจักษ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการอ่าน การคิดวิเคราะห์และการเขียนที่รวบรวม และนำเสนอในรูปของแฟ้มสะสมงาน
ง. การทดสอบโดยใช้แบบทดสอบแบบเขียนตอบหรือการให้ผู้เรียนเขียนความเรียง
จ. วิธีการอื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม
๑๔.๑.๓ กำหนดเกณฑ์การตัดสินคุณภาพการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียนสื่อความตามความเหมาะสม
๑๔.๑.๔ การจัดทำเครื่องมือประเมิน สรุปรวบรวมข้อมูล และตัดสินผลการประเมิน
๑๔.๑.๕ แนวทางการซ่อมเสริมปรับปรุงผู้เรียนที่ยังไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานขั้นต่ำของสถานศึกษา
ข้อ ๑๕ ประกาศแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบอย่างสม่ำเสมอ และชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ
ข้อ ๑๖ ให้ผู้สอนหรือผู้ที่คณะกรรมการการพัฒนาและประเมินความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนมอบหมาย ดำเนินการประเมิน และนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการการพัฒนาและประเมินความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน เพื่อให้ความเห็นชอบและเสนอผู้บริหารอนุมัติผลต่อไป
ข้อ ๑๗ แนวทางการประเมินความสามารถการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนระหว่างเรียน ให้ดำเนินการดังนี้
๑๗.๑ ให้ผู้มีหน้าที่ประเมินตรวจสอบหรือประเมินผู้เรียนในความรับผิดชอบควบคู่ไปกับการเรียนการสอน โดยประเมินเป็นช่วงๆ
๑๗.๒ ให้ผู้มีหน้าที่ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้เรียนและผู้ปกครองทราบเป็นระยะ
๑๗.๓ ดำเนินการซ่อมเสริม ปรับปรุง แก้ไขผู้เรียนในส่วนที่ไม่ผ่านการประเมิน
ข้อ ๑๘ เมื่อถึงปลายปี ให้ผู้ประเมินดำเนินการประเมินสรุปความสามารถการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียน เพื่อสรุปความสามารถของผู้เรียนในแต่ละปีการศึกษา และใช้ประกอบการตัดสินเลื่อนชั้น โดยให้ดำเนินการดังนี้
๑๘.๑ให้ผู้สอนตรวจสอบหรือประเมินผู้เรียนในความรับผิดชอบตามวิธีการ และเครื่องมือที่คณะกรรมการประเมินการอ่าน การคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความกำหนด เพื่อให้ได้ข้อมูลความสามารถของผู้เรียนด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียนสื่อความอย่างเหมาะสม ครบถ้วน ตามศักยภาพที่แท้จริงของผู้เรียน รายงานคณะกรรมการดำเนินการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ผู้มีหน้าที่ประเมินสามารถที่จะสรุปผลการประเมินกลางปีหรือเมื่อสิ้นภาคเรียนแรก เพื่อแจ้งให้ผู้เรียนได้ทราบสถานภาพของตน และทำการปรับปรุงแก้ไขตนเองได้
๑๘.๒ ให้คณะกรรมการดำเนินการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน สรุปผลการประเมินเมื่อสิ้นภาคการศึกษา
๑๘.๓ ตัดสินผลการประเมินในแต่ละตัวชี้ ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
๑๘.๓ แจ้งผลการประเมินให้ผู้เรียน และผู้ปกครองทราบ
๑๘.๔ ดำเนินการซ่อมเสริม ปรับปรุง แก้ไขผู้เรียนในส่วนที่ไม่ผ่านการประเมิน
๑๘.๕ จัดส่งผลการประเมินนำเสนอคณะกรรมการการพัฒนาและประเมินความสามารถการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ให้ความเห็นชอบ เพื่อนำเสนอให้ผู้บริหารสถานศึกษาอนุมัติผลการตัดสินการผ่านชั้นต่อไป
ในกรณีที่ผู้เรียนได้ผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ให้ครูผู้สอนดำเนินการซ่อมเสริม ปรับปรุงแก้ไข ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ จนผู้เรียนมีความสามารถ ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดภายในปีการศึกษาที่ผู้เรียนได้รับผลการประเมินไม่ผ่าน ผลการประเมินที่ได้ให้ได้ไม่เกิน “ผ่าน” ในกรณีที่ผู้เรียนไม่เข้ารับการซ่อมเสริมในระยะเวลาที่กำหนด ให้ครูผู้สอนบันทึกเสนอถึงผู้บริหารตามลำดับเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป
การวัดและการประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์
การวัดและการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นการประเมินคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและคุณลักษณะที่สถานศึกษากำหนดขึ้นโดยอิงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ให้ดำเนินการ ดังนี้
ข้อ ๑๙ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนครู ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการพัฒนา แนวทางการประเมิน เกณฑ์การประเมิน และแนวทางการปรับปรุงซ่อมเสริมผู้เรียน ฯลฯ
ข้อ ๒๐ ให้ คณะกรรมการพัฒนา และประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์นำคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ มาศึกษานิยาม/ตัวชี้วัด/พฤติกรรมบ่งชี้ เพื่อกำหนดพฤติกรรมบ่งชี้ที่ครอบคลุมตัวชี้วัดและนิยามของคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นและความต้องการของสถานศึกษาและชุมชน
ข้อ ๒๑ แนวทางการพัฒนา มี 2 ลักษณะ ดังนี้
๒๑.๑ การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในห้องเรียน ให้ผู้สอนดำเนินการพัฒนา ประเมินผลและแก้ไขปรับปรุงผู้เรียนในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ
๒๑.๒ การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์นอกห้องเรียน ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องของสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนา ประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาทั้งในลักษณะของการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หรือการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งในและนอกสถานศึกษา
ข้อ ๒๒ ให้ผู้สอนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและประเมินผลด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดำเนินการประเมินผู้เรียนในระหว่างภาค และเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนแต่ละภาค ตามแนวทางที่คณะกรรมการคุณลักษณะอันพึงประสงค์กำหนด
ข้อ ๒๓ ให้ผู้มีหน้าที่ในการพัฒนาและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์แต่ละฝ่ายทำการประเมินและ
รวบรวมข้อมูลการประเมินคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของ ผู้เรียน แล้วส่งต่อให้คณะกรรมการคุณลักษณะอันพึงประสงค์นำไปประมวลผลและพิจารณาตัดสินผลการประเมินคุณลักษณะแต่ละประการตามเกณฑ์ที่กำหนด
ข้อ ๒๔ ให้คณะกรรมการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ แจ้งผลการตัดสินผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ครูประจำชั้นของผู้เรียนนำไปกรอกในเอกสารแบบแสดงผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์และแจ้งผลให้ผู้เรียน และผู้ปกครองทราบต่อไป พร้อมกับดำเนินการปรับปรุงแก้ไขผู้เรียน ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินให้ควบคุมและพัฒนาตนเองในการถือปฏิบัติคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ดีขึ้น รวมทั้งมอบหมายให้ปฏิบัติกิจกรรมคุณความดีชดเชย ตามแนวทางที่สถานศึกษากำหนดไว้ โดยผู้เรียนที่ผ่านการซ่อมเสริมจะได้รับผลการประเมินเพียงระดับ “ผ่าน”
การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้ดำเนินการ ดังนี้
ข้อ ๒๕ การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายกิจกรรม
๒๕.๑ ให้ผู้สอนตรวจสอบเวลาเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดไว้
๒๕.๒ ให้ประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจากการปฏิบัติกิจกรรมและผลงาน/ชิ้นงานของผู้เรียน
ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และใช้การประเมินตามสภาพจริง
๒๕.๓ ผู้เรียนที่มีเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม การปฏิบัติกิจกรรมและผลงาน/ชิ้นงานของผู้เรียน
ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด เป็นผู้ผ่านการประเมินรายกิจกรรมและนำผลการประเมินไปบันทึกในระเบียนแสดงผลการเรียน
๒๕.๔ ผู้เรียนที่มีผลการประเมินไม่ผ่านในเกณฑ์เวลาการเข้าร่วมกิจกรรม หรือเกณฑ์การปฏิบัติกิจกรรมและผลงาน/ชิ้นงานของผู้เรียนหรือทั้งสองเกณฑ์ ถือว่าไม่ผ่านการประเมินผลกิจกรรม
พัฒนาผู้เรียน ผู้สอนต้องดำเนินการซ่อมเสริมและประเมินจนผ่าน ทั้งนี้ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปีการศึกษานั้น ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา
ข้อ ๒๖ การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อการตัดสิน
การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นการประเมินการผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นรายปี /
รายภาค เพื่อสรุปผลการผ่านในแต่ละกิจกรรม สรุปผลรวมเพื่อเลื่อนชั้นและประมวลผลรวมในปีสุดท้ายเพื่อการจบแต่ละระดับการศึกษา โดยการดำเนินการดังกล่าวมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
๒๖.๑ กำหนดให้มีผู้สอนในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของผู้เรียนทุกคนตลอดระดับการศึกษา
๒๖.๒ ผู้สอนสรุปและตัดสินผลการร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคลตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด เกณฑ์การจบแต่ละระดับการศึกษาที่สถานศึกษากำหนดนั้นผู้เรียนจะต้องผ่านกิจกรรม ๓ กิจกรรมสำคัญ ดังนี้
๑) กิจกรรมแนะแนว
๒) กิจกรรมนักเรียน ได้แก่
(๑) กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ (๒) กิจกรรมชุมนุม ชมรม
๓) กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
ข้อ ๒๗ นำเสนอผลการประเมินต่อคณะอนุกรรมการกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนา
ผู้เรียน เพื่อให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๒๘ เสนอผู้บริหารสถานศึกษา พิจารณาอนุมัติผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนผ่านเกณฑ์การจบแต่ละระดับการศึกษา
การสอบ School Test
ข้อ ๒๙ ให้ฝ่ายวิชาการรับผิดชอบในการจัดสอบ School Test นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ถึง 6
การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา
ข้อ ๓๐ ให้ผู้รับผิดชอบตามที่สถานศึกษากำหนด จัดให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 5 ได้เข้ารับการประเมินด้วยความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการประเมินผลระดับเขตพื้นที่การศึกษา
การ ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ
ข้อ ๓๑ ให้ผู้รับผิดชอบตามที่สถานศึกษากำหนดจัดให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 3 และ 6 ได้เข้ารับการประเมินด้วยความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการประเมินผลระดับชาติ
หมวดที่ 3
เกณฑ์การวัดและการประเมินผล
เกณฑ์การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ มีดังต่อไปนี้
ข้อ ๓๒ การตัดสินผลการเรียน ให้นำคะแนนที่ได้มากที่สุดของแต่ละครั้งที่ได้รับจากการวัดและประเมินผลมารวมกันแล้วนำมาเปลี่ยนเป็นระดับผลการเรียน หรือผลการประเมิน
ข้อ ๓๓ ให้ใช้สัญลักษณ์เหล่านี้แสดงความหมายหรือระดับคุณภาพของผลการเรียนหรือผลการประเมิน
๓๓.๑ การให้ระดับผลการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ จำแนกเป็น 8 ระดับคุณภาพ ดังนี้
ระดับคุณภาพ “4” หมายถึง ผลการเรียนดีเยี่ยม ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป
ระดับคุณภาพ “3.5” หมายถึง ผลการเรียนดีมาก ได้คะแนนร้อยละ 75-79
ระดับคุณภาพ “3” หมายถึง ผลการเรียนดี ได้คะแนนร้อยละ 70-74
ระดับคุณภาพ “2.5” หมายถึง ผลการเรียนค่อนข้างดี ได้คะแนนร้อยละ 65 - 69
ระดับคุณภาพ “2” หมายถึง ผลการเรียนปานกลาง ได้คะแนนร้อยละ 60 – 64
ระดับคุณภาพ “1.5” หมายถึง ผลการเรียนพอใช้ ได้คะแนนร้อยละ 55 – 59
ระดับคุณภาพ “1” หมายถึง ผลการเรียนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ได้คะแนนร้อยละ 50 – 54
ระดับคุณภาพ “0” หมายถึง ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ ได้คะแนนร้อยละ 0 – 49
๓๓.๒ ผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้
“ผ” หมายถึง ผู้เรียนมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมและปฏิบัติกิจกรรมมีผลงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่สถานศึกษากำหนด
“มผ” หมายถึง ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมและปฏิบัติกิจกรรมมีผลงานไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่สถานศึกษากำหนด
๓๓.๓ ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
“ดย” หมายถึง ผู้เรียนปฏิบัติตนตามคุณลักษณะจนเป็นนิสัยและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและสังคม โดยพิจารณาจากผลการประเมินระดับดีเยี่ยม จำนวน๕-๘ คุณลักษณะและไม่มีคุณลักษณะใดได้ผลการประเมินต่ำกว่าระดับดี
“ด” หมายถึง ผู้เรียนมีคุณลักษณะในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เพื่อให้เป็นการยอมรับของสังคม โดยพิจารณาจาก
๑. ได้ผลการประเมินระดับดีเยี่ยม จำนวน ๑-๔ คุณลักษณะ
และไม่มีคุณลักษณะใดได้ผลการประเมินต่ำกว่าระดับดี หรือ
๒. ได้ผลการประเมินระดับดีเยี่ยม จำนวน ๔ คุณลักษณะ
และไม่มีคุณลักษณะใดได้ผลการประเมินต่ำกว่าระดับผ่าน หรือ
๓. ได้ผลการประเมินระดับดี จำนวน ๕-๘ คุณลักษณะและไม่มีคุณลักษณะใดได้ผลการประเมินต่ำกว่าระดับผ่าน
“ผ” หมายถึง ผู้เรียนรับรู้และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถานศึกษากำหนด โดยพิจารณาจาก
๑. ได้ผลการประเมินระดับผ่าน จำนวน ๕-๘ คุณลักษณะและไม่มีคุณลักษณะใดได้ผลการประเมินต่ำกว่าระดับผ่าน หรือ
๒. ได้ผลการประเมินระดับดี จำนวน ๔ คุณลักษณะและไม่มีคุณลักษณะใดได้ผลการประเมินต่ำกว่าระดับผ่าน
“มผ” หมายถึง ผู้เรียนรับรู้และปฏิบัติได้ไม่ครบตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถานศึกษากำหนด โดยพิจารณาจากผลการประเมินระดับไม่ผ่าน ตั้งแต่ ๑ คุณลักษณะ
๓๓.๔ ผลการประเมินความสามารถในการเรียนรู้ การอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ
“ดย” หมายถึง มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนที่มีคุณภาพดีเลิศอยู่เสมอ
“ด” หมายถึง มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์
และเขียนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ
“ผ” หมายถึง มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์
และเขียนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีข้อบกพร่องบางประการ
“มผ” หมายถึง ไม่มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน หรือถ้ามีผลงาน ผลงานนั้นยังมีข้อบกพร่องที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายประการ
ข้อ ๓๔ การเลื่อนชั้น ให้ถือปฏิบัติดังนี้
๑) ผู้เรียนมีเวลาเรียนตลอดปีการศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของเวลาเรียนทั้งหมด
๒) ผู้เรียนมีผลการประเมินผ่านทุกรายวิชาพื้นฐาน
๓) ผู้เรียนมีผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
ทั้งนี้ ถ้าผู้เรียนมีข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย และสถานศึกษาพิจารณาเห็นว่าสามารถพัฒนาและสอนซ่อมเสริมได้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษาที่จะผ่อนผันให้เลื่อนชั้นได้
อนึ่ง ในกรณีที่ผู้เรียนมีหลักฐานการเรียนรู้ที่แสดงว่ามีความสามารถดีเลิศ สถานศึกษาอาจให้โอกาสผู้เรียนเลื่อนชั้นกลางปีการศึกษา โดยสถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ฝ่ายวิชาการของสถานศึกษาและผู้แทนของเขตพื้นที่การศึกษาหรือต้นสังกัด ประเมินผู้เรียนและตรวจสอบคุณสมบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้ง ๓ ประการ ต่อไปนี้
๑. มีผลการเรียนในปีการศึกษาที่ผ่านมาและมีผลการเรียนระหว่างปีที่กำลังศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม
๒. มีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะเรียนในชั้นที่สูงขึ้น
๓. ผ่านการประเมินผลความรู้ความสามารถทุกรายวิชาของชั้นปีที่เรียนปัจจุบัน และความรู้ความสามารถทุกรายวิชาในภาคเรียนแรกของชั้นปีที่จะเลื่อนขึ้น การอนุมัติให้เลื่อนชั้นกลางปีการศึกษาไปเรียนชั้นสูงขึ้นได้ ๑ ระดับชั้นนี้ ต้องได้รับการยินยอมจากผู้เรียนและผู้ปกครอง และต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๒ ของปีการศึกษานั้น สำหรับในกรณีที่พบว่ามีผู้เรียนกลุ่มพิเศษประเภทต่าง ๆ มีปัญหาในการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัด/ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา/หน่วยงานต้นสังกัด โรงเรียนเฉพาะความพิการ หาแนวทางการแก้ไขและพัฒนา
ข้อ ๓๕ การสอนซ่อมเสริม
กรณีที่ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ กระบวนการ เจตคติ/คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตลอดจนผลงานการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ให้ครูผู้สอนดำเนินการซ่อมเสริมผู้เรียน ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ จนผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ กระบวนการ เจตคติ/คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตลอดจนผลงานการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่สถานศึกษากำหนดภายในปีการศึกษาที่ผู้เรียนได้รับผลการประเมินไม่ผ่าน สำหรับนักเรียนที่ผ่านการซ่อมเสริมในรายวิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ จะได้รับผลการประเมินไม่เกิน 1 ส่วนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จะได้รับผลการประเมินในระดับ “ผ่าน”
กรณีที่ผู้เรียนไม่มาเข้ารับการซ่อมเสริมตามเวลาที่กำหนด ให้ครูผู้สอนทำบันทึกเสนอถึงผู้บริหารตามลำดับเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการสถานศึกษา พิจารณาเป็นกรณีไป
ข้อ ๓๖ การเรียนซ้ำชั้น
ผู้เรียนที่ไม่ผ่านรายวิชาจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น สถานศึกษาอาจตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้เรียนซ้ำชั้นได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถของผู้เรียน เป็นสำคัญ ผู้เรียนที่ไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การเลื่อนชั้น สถานศึกษาควรให้เรียนซ้ำชั้น ทั้งนี้ สถานศึกษาอาจใช้ดุลยพินิจให้เลื่อนชั้นได้ หากพิจารณาว่าผู้เรียนมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑) มีเวลาเรียนไม่ถึงร้อยละ ๘๐ อันเนื่องจากสาเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย แต่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การเลื่อนชั้นในข้ออื่น ๆ ครบถ้วน
๒) ผู้เรียนมีผลการประเมินผ่านมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดไม่ถึงเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนดในแต่ละรายวิชา แต่เห็นว่าสามารถสอนซ่อมเสริมได้ในปีการศึกษานั้น และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การเลื่อนชั้นในข้ออื่น ๆ ครบถ้วน
๓) ผู้เรียนมีผลการประเมินรายวิชาในกลุ่มสาระภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรมอยู่ในระดับผ่านก่อนที่จะให้ผู้เรียนเรียนซ้ำชั้น สถานศึกษาควรแจ้งให้ผู้ปกครองและผู้เรียนทราบเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้น
ข้อ ๓๗ การจบหลักสูตร
เกณฑ์การจบการศึกษา มีดังต่อไปนี้
๑) ผู้เรียนเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชา/กิจกรรมเพิ่มเติม ตามโครงสร้างเวลาเรียนที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
๒) ผู้เรียนต้องมีผลการประเมินรายวิชาพื้นฐานผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด
๓) ผู้เรียนมีผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ในระดับผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด
๔) ผู้เรียนมีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในระดับผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด
๕) ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด
หมวดที่ 4
การรายงานผลการเรียน
ข้อ ๓๘ การรายงานผลการเรียนให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
๓๘.๑ จุดมุ่งหมายของการรายงานผลการเรียน มีดังนี้
๑. เพื่อแจ้งให้ผู้เรียน ผู้เกี่ยวข้องทราบความก้าวหน้าของผู้เรียน
๒. เพื่อให้ผู้เรียน ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง แก้ไข ส่งเสริมและพัฒนา การเรียนของผู้เรียน
๓. เพื่อให้ผู้เรียน ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการเรียน กำหนดแนวทางการศึกษาและการเลือกอาชีพ
๔. เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ใช้ดำเนินการออกเอกสารหลักฐานการศึกษา ตรวจสอบและรับรองผลการเรียน หรือวุฒิทางการศึกษาของผู้เรียน
๕. เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด ใช้ประกอบในการกำหนดนโยบาย วางแผนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
๓๘.๒ ข้อมูลในการรายงานผลการเรียน
ข้อมูลระดับชั้นเรียน ประกอบด้วย ผลการประเมินความรู้ ความสามารถ พฤติกรรมการเรียน ความประพฤติและผลงานในการเรียนของผู้เรียน เป็นข้อมูลสำหรับรายงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครอง ได้รับทราบความก้าวหน้า ความสำเร็จในการเรียนของผู้เรียนเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนกำหนดเป้าหมายและวิธีการในการพัฒนาผู้เรียน
ข้อมูลระดับสถานศึกษา ประกอบด้วย ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายปี/รายภาค ผลการประเมินความก้าวหน้าใน การเรียนรู้รายปี/รายภาคโดยรวมของสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลและสารสนเทศในการพัฒนา การเรียนการสอนและคุณภาพของผู้เรียน ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด การตัดสิน การเลื่อนชั้นและการซ่อมเสริมผู้เรียนที่มีข้อบกพร่องให้ผ่านระดับชั้นและเป็นข้อมูลในการออกเอกสารหลักฐานการศึกษา
ข้อมูลการประเมินคุณภาพระดับเขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ ผลการประเมินคุณภาพ ของผู้เรียนด้วยแบบประเมินที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำขึ้นในกลุ่มสาระการเรียนรู้สำคัญในระดับชั้นที่นอกเหนือจากการประเมินคุณภาพระดับชาติ เป็นข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องใช้วางแผนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของผู้เรียนและสถานศึกษา
ข้อมูลผลการประเมินคุณภาพระดับชาติ ได้แก่ ผลการประเมินคุณภาพของผู้เรียนด้วยแบบประเมินที่เป็นมาตรฐานระดับชาติในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สำคัญในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานระดับชาติ เป็นข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องใช้วางแผนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของผู้เรียน สถานศึกษา ท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษาและประเทศชาติ รวมทั้งนำไปรายงานในเอกสารหลักฐานการศึกษาของผู้เรียน
ข้อมูลพัฒนาการของผู้เรียนด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทาง ด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและพฤติกรรมต่างๆ เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของการแนะแนวและจัดระบบการดูแลช่วยเหลือเพื่อแจ้งให้ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายนำไปใช้ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดพัฒนาการอย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งนำไปจัดทำเอกสารหลักฐานแสดงพัฒนาการของผู้เรียน
๓๘.๓ ลักษณะข้อมูลสำหรับการรายงาน
การรายงานผลการเรียนให้รายงานเป็นระบบตัวเลขระดับผลการเรียน “๐ - ๔” (๘ ระดับ) และผลการเรียนที่มีเงื่อนไข “ผ” “มผ” “ร” “มส”
รายงานโดยใช้สถิติ เป็นการรายงานจากข้อมูลที่เป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือข้อความให้เป็นภาพแผนภูมิหรือเส้นพัฒนาการ ซึ่งจะแสดงให้เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของผู้เรียนว่าดีขึ้นหรือควรได้รับการพัฒนาอย่างไร เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป
รายงานเป็นข้อความ เป็นการบรรยายพฤติกรรมหรือคุณภาพที่ผู้ประเมินสังเกตพบ เพื่อรายงานให้ทราบว่าผู้เรียนมีความสามารถ มีพฤติกรรม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามมาตรฐาน การเรียนรู้/ตัวชี้วัดและบุคลิกภาพอย่างไร เช่น
ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ชอบแสดงความคิดเห็นและมีเหตุผล
ผู้เรียนสนใจอ่านเรื่องต่างๆ หลากหลายประเภท สามารถสรุปใจความของเรื่องได้ถูกต้องสมบูรณ์
ผู้เรียนมีผลการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นที่น่าพอใจ แต่ควรมีการพัฒนาด้านการเขียน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองในการฝึกหรือส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการเขียนสูงขึ้น
๓๘.๔ วิธีการรายงาน
การรายงานผลการเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ สามารถดำเนินการได้ดังนี้
๓๘.๔.๑ การรายงานผลการเรียนในเอกสารหลักฐานการศึกษา ได้แก่
- ระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.๑)
- หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา (ปพ.๒)
- แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.๓)
- แบบรายงานผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนรายบุคคล
- แบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชา
- ระเบียนสะสม
- ใบรับรองผลการเรียน
ฯลฯ
ข้อมูลจากแบบรายงาน สามารถใช้อ้างอิง ตรวจสอบและรับรองผลการเรียนของผู้เรียนได้
๓๘.๔.๒ การรายงานคุณภาพการศึกษาให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ สามารถรายงานได้หลายวิธี เช่น
- รายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี
- วารสาร/จุลสารของสถานศึกษา
- จดหมายส่วนตัว
- การให้คำปรึกษาหารือเป็นรายบุคคล
- การให้พบครูที่ปรึกษาหรือการประชุมเครือข่ายผู้ปกครอง
- การให้ข้อมูลทาง Internet ผ่าน Web site ของสถานศึกษา
๓๘.๕ การกำหนดระยะเวลาในการรายงานให้ดำเนินการ ดังนี้
๓๘.๕.๑ รายงานพัฒนาการของผู้เรียนตามตัวชี้มาตรฐานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้รายงานแก่ผู้ปกครองทุก 2 เดือน
๓๘.๕.๒ รายงานผลการพัฒนาผู้เรียนรายปี / รายภาคให้รายงานผลการประเมินสรุปของวิชาการในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ การพัฒนาการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน สมรรถนะสำคัญพร้อมสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
๓๘.๕.๓ การรายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาให้รายงานภายใน 2สัปดาห์ นับตั้งแต่สถานศึกษาได้รับรายงานผลจากเขตพื้นที่การศึกษา
๓๘.๕.๔ การรายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติให้รายงานภายใน 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่สถานศึกษาได้รับรายงานจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
ทั้งนี้ให้ยึดหลักการรายงานให้เร็วที่สุดภายหลังการประเมินผลแต่ละครั้ง เพื่อให้การรายงานเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการนำไปใช้สูงสุด
หมวดที่ 5
การเทียบโอนผลการเรียน
ข้อที่ ๓๙ การเทียบโอนผลการเรียนให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
๓๙.๑ ให้โรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนจำนวน ๓ คนแต่ไม่เกิน ๕ คน
๓๙.๒ ให้คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
๓๙.๒.๑ พิจารณาจากหลักฐานการศึกษา ซึ่งจะให้ข้อมูลที่แสดงความรู้ความสามารถของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ
๓๙.๒.๒ พิจารณาจากความรู้และประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติจริง การทดสอบ การสัมภาษณ์ฯลฯ
๓๙.๒.๓ พิจารณาจากความสามารถ และปฏิบัติได้จริง
๙.๒.๔ ในกรณีมีเหตุผลจำเป็นระหว่างเรียน นักเรียนสามารถแจ้งความจำนงขอไปศึกษาบางรายวิชาในสถานศึกษา/สถานประกอบการอื่น แล้วนำมาเทียบโอนได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษา
๓๙.๒.๕ การเทียบโอนให้ดำเนินการ ดังนี้
๑. กรณีผู้ขอเทียบโอนมีผลการเรียนมาจากหลักสูตรอื่น ให้นำรายวิชาหรือหน่วยกิตที่มีตัวชี้วัด/มาตรฐานการเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง/จุดประสงค์/เนื้อหาที่สอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ มาเทียบโอนผลการเรียนและพิจารณาให้ระดับผลการเรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่รับเทียบโอน
๒. กรณีการเทียบโอนความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ให้พิจารณาจากเอกสารหลักฐาน (ถ้ามี) โดยให้มีการประเมินด้วยเครื่องมือที่หลากหลายและให้ระดับผลให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่รับเทียบโอน
๓. กรณีการเทียบโอนที่นักเรียนเข้าโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ให้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องหลักการและแนวปฏิบัติการเทียบชั้นการศึกษาสำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้วิธีการเทียบโอนผลการเรียนในรายละเอียดให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการและ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
หมวดที่ 6
เอกสารหลักฐานทางการศึกษา
ข้อ ๔๐ ให้โรงเรียนจัดให้มีเอกสารประเมินผลการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
๔๐.๑ เอกสารหลักฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๑. ระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.๑)
๒. ประกาศนียบัตร (ปพ.๒)
๓. แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.๓)
๔๐.๒ เอกสารหลักฐานที่สถานศึกษากำหนด
๑. แบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชา
๒. แบบรายงานประจำตัวนักเรียน
๓. ใบรับรองผลการเรียน
๔. ระเบียนสะสม
ข้อ ๔๑ การวัดและประเมินผลทุกอย่าง ต้องผ่านคณะกรรมการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาหรือที่เกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจเต็มที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียน และความถูกต้องตามระเบียบฯ นี้ทุกประการเป็นสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย
๔๑.๑ คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการ
๔๑.๒ คณะอนุกรรมการกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๔๑.๓ คณะกรรมการพัฒนาและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๔๑.๔ คณะกรรมการการพัฒนาและประเมินความสามารถใน การอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน
๔๑.๕ คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียน
หมวดที่ 7
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๒ การกำหนดการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาและระเบียบว่าด้วยการวัดผลและประเมินผลนี้ ควรดำเนินการปรับปรุง 3 ปีการศึกษาเป็นอย่างน้อย โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน ชุมชน หรือประเทศชาติ ภายใต้ศักยภาพอย่างเต็มที่ของสถานศึกษา
ข้อ ๔๓ ให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการ ประเมินเชิงวิจัยการใช้หลักสูตรสถานศึกษาและความสมบูรณ์ของระเบียบฯ นี้ ประจำปีการศึกษา แล้วรายงานผลการประเมิน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบและดำเนินการในส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงต่อไป